อนาคตของ AI?

ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้ช่วยผลักดันให้นานาประเทศปรับเปลี่ยนกรอบความคิดในการเตรียมตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แค่ส่องตัวเลขคร่าวๆของสิ้นปี 2018 นี้ การเติบโตของตลาด AI มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้าน USD หรือราวๆ 38.4 ล้านล้านบาท ยังมีการคาดการณ์อีกด้วยว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นไปจนแตะ 3.9 ล้านล้าน USD หรือราวๆ 124.8 ล้านล้านบาทในปี 2022 แม้แต่ John-David Lovelock ผู้ดำรงตำแหน่ง Research Vice President แห่ง Gartner ได้ระบุว่า AI นี้ถือเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมของตลาดต่างๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ด้วยความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในเทคโนโลยีประมวลผล รวมไปถึงปริมาณ ความเร็ว และความหลากหลายของข้อมูล

 นอกจากนี้รายงาน Global Connectivity Index 2018 ของ Huawei ยังพบด้วยว่า การจะใช้เทคโนโลยี AI ในสเกลใหญ่ให้ได้ประสิทธิภาพดีนั้น ประเทศทั้งหลายต้องมีความพร้อมในองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ ศักยภาพในการประมวลผล, Data ที่เป็นหมวดหมู่ และ Algorithm ปัจจุบันประเทศในกลุ่ม Frontrunner หรือประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดใน 3 กลุ่มประเทศตามรายงาน GCI นั้น พัฒนาแซงหน้าประเทศในกลุ่ม Adopter และกลุ่ม Starter ในทั้ง 3 องค์ประกอบ เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้มีโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ที่ล้ำหน้ามากกว่า ทว่าปัญหาความท้าทายสำคัญของทั้งสามกลุ่มประเทศในรายงาน GCI ก็คือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา AI ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องคิดทบทวนเรื่องระบบการศึกษาเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสถานที่ทำงานในอนาคตที่จะถูกกำหนดโดย AI

การแบ่งระดับ AI ตามความฉลาดและความสามารถ 

 แม้ว่าปัจจุบันนี้ AI ยังคงเป็นสิ่งที่เรายังต้องป้อน Data คำสั่งไว้แก้ปัญหาสำหรับหลายๆ ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ยิ่งเราป้อนกรณีตัวอย่างมากเท่าไร มันก็จะยิ่งทำงานได้ดีมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ทำหน้าที่ได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ในการแบ่งระดับตามฉลาดและความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ เราสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระดับ คือ

  ระดับที่ 1) Artificial Narrow Intelligence (ANI)

 บางครั้งเราเรียกว่า Weak AI ที่พอจะเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ได้ ในระดับนี้ AI จะมีความสามารถและความเชี่ยวชาญในเฉพาะด้าน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ AlphaGo ที่สามารถเอาชนะเซียนโกะมือหนึ่งของโลก แต่ให้ไปแข่งปิงปอง หรือแข่งคิดคำนวณค่าสูตรต่างๆไม่สามารถทำได้

 ระดับที่ 2) Artificial General Intelligence (AGI)

 บางครั้งเรียกว่า Strong AI หรือ Human-Level AI ในระดับนี้ AI จะมีความสามารถและความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ ทั้งความสามารถการคิดเชิงเหตุผล การวางแผนและแก้ปัญหา การคิดในเชิงซับซ้อน และสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ แต่ปัจจุบันยังคงห่างไกลจากความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้หลายสาขาหรือทำงานได้เกือบทุกอย่างเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์

 ระดับที่ 3) Artificial Superintelligence (ASI)

 Nick Bostrom นักปรัชญาและนักคิดชั้นนำด้าน AI ได้ให้นิยามของ Superintelligence ไว้ว่า “เครื่องจักรที่มีสติปัญญาและความสามารถเหนือกว่าสมองมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในเกือบทุกสาขา รวมถึงความคิดเชิงสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้เชิงภูมิปัญญา และทักษะทางสังคม เขาเรียกมันว่า “เครื่องจักรทรงภูมิปัญญา (Machine Superintelligence)” เจ้า ASI นี้เองที่ Larry Page, Elon Musk, Mark Zuckerberg, Jeff Bezos ต่างให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก ผิวเผินแล้วเรารู้แค่ว่าฉลาดกว่ามนุษย์ แต่รู้หรือไม่ว่ามันสามารถพัฒนาให้ตัวเองฉลาดขึ้นไปได้เรื่อยๆ และในท้ายที่สุดมันจะทำสิ่งมนุษย์ไม่เข้าใจว่ามันทำได้ยังไง (เหมือนที่ลิงไม่รู้ว่ามนุษย์สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมาได้อย่างไร) เจ้าสิ่งนี้เองที่ทุกคนทั้งหวาดกลัวทั้งสนใจใคร่รู้ เพราะมันสามารถจะทำให้มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่สูญสิ้นไปจากจักรวาลหรือกระทั่งทำให้มนุษย์เป็นอมตะก็อาจเป็นไปได้